ข่าวพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช ฉบับที่ 2/66

โรคราน้ำค้างในพืชตระกูลกะหล่ำ

ในช่วงสภาพอากาศที่เย็น อุณหภูมิลดลง ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ กวางตุ้ง กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี คะน้า บรอกโคลี่ ผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียว และผักกาดหัว เป็นต้น ในเขตภาคตะวันออกหมั่นสำรวจแปลงและเฝ้าระวังการระบาดของโรคราน้ำค้าง

เชื้อสาเหตุ เชื้อรา Peronospora parasitica

อาการของโรค เกิดขึ้นได้ทุกระยะการเจริญเติบโต
ระยะกล้า ใบเลี้ยงจะเกิดจุดแผลสีน้ำตาลทำให้ลำต้นเน่า หรือแคระแกร็น
ระยะต้นโต พบอาการเริ่มแรก บริเวณหน้าใบลักษณะเป็นจุดแผลสีเหลือง หรืออาจเป็นปื้นๆ สีเหลือง ถ้าสภาพอากาศมีความชื้นโดยเฉพาะตอนเช้าเมื่อพลิกดูใต้ใบมักจะพบเส้นใย เชื้อราสีขาวหรือเทาคล้ายปุยฝ้าย ถ้าโรคระบาดรุนแรงแผลจะลามขยายใหญ่ทำให้เนื้อใบเป็นสีน้ำตาลและแห้งตายในกะหล่ำดอกและบรอกโคลี ถ้าเชื้อเข้าทำลายรุนแรงก้านดอกจะยืดและดอกอาจจะบิดเบี้ยวเสียรูปทรง

สิ่งแวดล้อมที่เหมาะต่อการเกิดโรค
ความชื้นสูง อุณหภูมิระหว่าง 20-24 องศาเซลเซียส มีหมอกหรือน้ำค้างลงจัด        

แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากเชื้อสาเหตุโรค
2. แช่เมล็ดในน้ำอุ่น หรือแช่เมล็ดด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร หรือคลุกเมล็ดด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าอัตรา 10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หรือคลุกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 35% ดีเอส อัตรา 10 กรัมต่อเมล็ด พันธุ์ 1 กิโลกรัม ก่อนปลูก
3. ควรปลูกพืชให้มีระยะห่างพอสมควร ไม่เบียดแน่นจนเกินไป
4. เมื่อเริ่มพบโรคในระยะกล้า ควรถอนต้นกล้านำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันทีแล้วฉีดพ่นด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร หรือเชื้อบาซิลลัส ซับทิลิส
5. หากพบโรคในระยะต้นโตควรตัดใบที่เป็นโรคออกแล้วพ่นพ่นด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า หรือสารป้องกันกำจัดเชื้อราด้วย

เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
ไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
แมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
แมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% +4% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
โดยพ่นให้ทั่วทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ทุก 5-7 วัน

6. หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรเก็บเศษซากพืชไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก
7. ควรหลีกเลี่ยงการปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาดซ้ำในแปลงเดิม และควรปลูกพืชหมุนเวียน

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร