มวนพิฆาต
วงจรชีวิตมวนพิฆาต

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eocanthecona furcellata (Wolff)

มวนตัวห้ำ เป็นแมลงห้ำที่ช่วยกำจัดหนอนของแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น  หนอนกระทู้หอม  หนอนกระทู้ผัก  หนอนคืบกะหล่ำ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนแก้วส้ม เป็นต้น มีปากแบบแทงดูด ทำลายเหยื่อโดยใช้ปากแทงเข้าที่ลำตัวของเหยื่อแล้วปล่อยสารพิษ ทำให้เหยื่อเป็นอัมพาต หลังจากนั้นจึงดูดกินของเหลวภายในลำตัวของเหยื่อจนแห้งตาย แล้วทิ้งเหยื่อเพื่อหาเหยื่อใหม่ต่อไป จึงนับว่าเป็นแมลงศัตรูธรรมชาติที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี

ความสำคัญ
มวนพิฆาต

มวนพิฆาต เป็นแมลงห้ำทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยเริ่มเป็นตัวห้ำตั้งแต่ระยะตัวอ่อนวัย 2 สามารถทำลายศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น หนอนคืบกะหล่ำปลี หนอนคืบฝ้าย หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนไหม หนอนคืบลำไย หนอนแก้วส้ม หนอนผีเสื้อต่างๆ ตลอดชีวิตของมวนพิฆาต 1 ตัว ทำลายหนอนศัตรูพืชได้ 214-258 ตัว เฉลี่ย 6 ตัว/วัน

ตัวอ่อนมวนพิฆาตเป็นระยะที่ไม่มีปีกจึงแยกย้ายอยู่ในแปลงที่ปล่อย ซึ่งนานพอที่จะช่วยกำจัดหนอนศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ โดยตัวอ่อนมวนพิฆาสามารถทำลายหนอนได้ 80 ตัว

วงจรชีวิต
ไข่มวนพิฆาต

ไข่
ไข่เป็นกลุ่ม ลักษณะกลม ด้านบนมีหนามอยู่โดยรอบ  ไข่ในระยะแรกมีสีครีมอ่อนต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเงินมันวาวและเปลี่ยนเป็นสีทอง  เมื่อใกล้ฟักจะเป็นสีทองแดง  ไข่จะฟักภายใน 5-7 วัน

ตัวอ่อนมวนพิฆาต

ตัวอ่อน
มี 5 วัย มีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ  ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ จะมีสีแดง ขาและหนวดสีดำ ตัวอ่อนวัยแรกชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม  ไม่กินอาหาร ไม่เคลื่อนย้าย และจะตายหมดทั้งกลุ่มถ้าถูกกระทบกระเทือน หลังจากลอกคราบเป็นวัย 2 จึงเริ่มกินหนอนเป็นอาหาร ระยะตัวอ่อนมีอายุประมาณ 15-21 วัน

ตัวเต็มวัย
ลำตัวยาวประมาณ 1 ซม. สีเทาลายเปรอะ ๆ ตลอดลำตัว ส่วนหลังบริเวณสามเหลี่ยมมีจุดสีเหลืองอ่อน 3 จุด บ่าทั้ง 2 ข้างมีหนามแหลมยื่นออกมา  ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ปลายส่วนท้องมน  ส่วนตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่า ตัวเมียวางไข่ได้ประมาณ 340 ฟอง/ตัว  อายุประมาณ 20-30 วัน

ลักษณะการทำลายเหยื่อ
มวนพิฆาตทำลายหนอน

   มวนตัวห้ำจะเข้าทำลายเหยื่อโดยใช้ปากที่แหลมยาวแทงเข้าไปในลำตัวเหยื่อพร้อมกับปล่อยสารพิษ ทำให้เหยื่อเป็นอัมพาต ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จากนั้นจะดูดกินของเหลวภายในลำตัวเหยื่อจนแห้งและตายอย่างรวดเร็ว โดยมวน 1 ตัว สามารถทำลายเหยื่อได้ 4 – 5 ตัว/วัน

การนำมวนพิฆาตไปใช้ควบคุมศัตรูพืช

ปล่อยมวนพิฆาต

🍃กรณีสำรวจพบหนอนในแปลงมีปริมาณน้อย (1-2 ตัวต่อจุดสำรวจ) ปล่อยอัตรา 100 ตัว/ไร่ ส่วนในไม้ผล ปล่อยมวนตัวห้ำ อัตรา 100 ตัว/ต้น

🍃กรณีสำรวจพบหนอนในแปลงมีปริมาณมาก ปล่อยมวนตัวห้ำ อัตรา 2,000 ตัว /ไร่ ส่วนในไม้ผล ปล่อยมวนอัตรา 2,000 ตัว / ต้น

🍃หลังการปล่อย 7 วัน ทำการสำรวจปริมาณหนอนผีเสื้อและความเสียหายของพืชเพื่อประเมินผลการควบคุม