มวนเพชฌฆาต
วงจรชีวิตมวนเพชฌฆาต

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sycanus  collaris  Fabricius

มวนตัวห้ำ เป็นแมลงห้ำที่ช่วยกำจัดหนอนของแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น  หนอนกระทู้หอม  หนอนกระทู้ผัก  หนอนคืบกะหล่ำ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนแก้วส้ม เป็นต้น มีปากแบบแทงดูด ทำลายเหยื่อโดยใช้ปากแทงเข้าที่ลำตัวของเหยื่อแล้วปล่อยสารพิษ ทำให้เหยื่อเป็นอัมพาต หลังจากนั้นจึงดูดกินของเหลวภายในลำตัวของเหยื่อจนแห้งตาย แล้วทิ้งเหยื่อเพื่อหาเหยื่อใหม่ต่อไป จึงนับว่าเป็นแมลงศัตรูธรรมชาติที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี

ความสำคัญ
มวนเพชฌฆาต

มวนเพชฌฆาต เป็นแมลงห้ำทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยเริ่มเป็นตัวห้ำตั้งแต่ระยะตัวอ่อนวัย 1 สามารถทำลายศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น หนอนคืบกะหล่ำปลี หนอนคืบฝ้าย หนอนเจาะสมอฝ้าย  หนอนไหม หนอนคืบลำไย หนอนแก้วส้ม หนอนผีเสื้อต่างๆ หรือแม้กระทั่งมวนและด้วงศัตรูพืช เป็นต้น

มักจะพบมวนเพชฌฆาตตามสวนผลไม้ต่างๆ เช่น สวนส้ม มะม่วงและลำไย พืชไร่ เช่น ฝ้าย ยาสูบ และพืชต่างๆ ที่มีแมลงศัตรูพืชทำลาย โดยมีเขตแพร่กระจายอยู่ทางภาคกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตจังหวัดที่มีการทำสวนผลไม้ต่างๆ

วงจรชีวิต
ไข่มวนเพชฌฆาต

ไข่
ไข่เป็นกลุ่ม สีน้ำตาล ยาวรี มีมูกสีขาวขุ่นเพื่อยึดไข่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ละ 20 – 230 ฟอง ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนภายใน    10 – 15 วัน

ตัวอ่อนมวนเพชฌฆาต

ตัวอ่อน
มี 5 วัย มีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ  ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ จะมีสีแดงใส ไม่มีปีก ลักษณะคล้ายมด อยู่รวมเป็นกลุ่ม เมื่อโตขึ้นจะเริ่มแยกกลุ่ม และเป็นตัวห้ำตั้งแต่วัย 1 ระยะตัวอ่อนมีอายุ 50-70 วัน

ตัวเต็มวัยมวนเพชฌฆาต

ตัวเต็มวัย
ลำตัวยาวประมาณ 2–2.5 เซนติเมตร ส่วนหัว หนวดและขามีสีดำ คอยาว ปากยาวกว่ามวนพิฆาต ด้านข้างลำตัวส่วนท้องทั้ง 2 ข้าง มีแถบสีแดงสลับดำปีกส่วนบนสีดำ ปีกส่วนกลางสีส้มแดง ปีกส่วนปลายสีน้ำตาลเข้ม ตัวเมียวางไข่ได้ประมาณ 442 ฟอง/ตัว  อายุ 40-80 วัน

ลักษณะการทำลายเหยื่อ
มวนเพชฌฆาตกินหนอน
มวนเพชฌฆาตกินหนอน

   มวนตัวห้ำจะเข้าทำลายเหยื่อโดยใช้ปากที่แหลมยาวแทงเข้าไปในลำตัวเหยื่อพร้อมกับปล่อยสารพิษ ทำให้เหยื่อเป็นอัมพาต ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จากนั้นจะดูดกินของเหลวภายในลำตัวเหยื่อจนแห้งและตายอย่างรวดเร็ว โดยมวน 1 ตัว สามารถทำลายเหยื่อได้ 4 – 5 ตัว/วัน

การนำมวนเพฌฆาตไปใช้ควบคุมศัตรูพืช
ปล่อยมวน

🍃กรณีสำรวจพบหนอนในแปลงมีปริมาณน้อย (1-2 ตัวต่อจุดสำรวจ) ปล่อยอัตรา 100 ตัว/ไร่ ส่วนในไม้ผล ปล่อยมวนตัวห้ำ อัตรา 100 ตัว/ต้น

🍃กรณีสำรวจพบหนอนในแปลงมีปริมาณมาก ปล่อยมวนตัวห้ำ อัตรา 2,000 ตัว /ไร่ ส่วนในไม้ผล ปล่อยมวนอัตรา 2,000 ตัว / ต้น

🍃หลังการปล่อย 7 วัน ทำการสำรวจปริมาณหนอนผีเสื้อและความเสียหายของพืชเพื่อประเมินผลการควบคุม