ข่าวพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช ฉบับที่ 4/66

หนอนกินจั่นมะพร้าว

ช่วงนี้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในภาคตะวันออกควรเฝ้าระวังหนอนกินจั่นมะพร้าว  เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งเหมาะต่อการระบาดของหนอนกินจั่นมะพร้าว ดังนั้นศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี จึงขอแจ้งให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในภาคตะวันออก  ควรหมั่นสำรวจแปลงและเฝ้าระวังการระบาดของหนอนกินจั่นมะพร้าวอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อให้สามารถป้องกันก่อนเกิดการระบาด และควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตของตนเอง

หนอนกินจั่นมะพร้าว  :

          ชื่อสามัญ :  Coconut spike moth หรือ Oil palm bunch moth)
          ชื่อวิทยาศาสตร์  : Tirathaba rufivena (Walker)                 
เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กในวงศ์ Pyralidae มีการแพร่กระจายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก รวมถึงประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และเขตร้อนของควีนส์แลนด์ประเทศออสเตรเลีย หนอนชนิดนี้จัดเป็นศัตรูสำคัญของปาล์มน้ำมันในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยพบระบาดมากช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้งเป็นเวลานาน

วงจรชีวิต

ไข่  มีขนาด 0.5-1.0 มิลลิเมตร ไข่กลมสีขาวและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้มเมื่อใกล้ฟัก ระยะไข่ 3-4 วัน

หนอน มี 5 วัย หนอนวัยต้นสีน้ำตาลอ่อนหัวสีดำ หนอนวัยสุดท้ายสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีขนาด 16.0-18.0 มิลลิเมตร หนอนจะเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วเมื่อถูกรบกวน ระยะหนอน 14-20 วัน

ดักแด้ สีน้ำตาล ระยะดักแด้ 7-8 วัน

ตัวเต็มวัย สีน้ำตาลเทามีแถบสีส้มขนาดเล็กจากโคนถึงปลายปีก กลางปีกมีจุดสีเทาเข้ม 2 จุด ปีกคู่หลังสีเหลืองอ่อน เพศผู้มีขนาด 11.0-12.0 มิลลิเมตร เพศเมียมีขนาด 14.0-15.0 มิลลิเมตร ระยะตัวเต็มวัย 3-4 วัน (Muhammad et al., 2018)

ลักษณะการทำลาย

          พบมากช่วงมะพร้าวออกช่อดอก (จั่น) โดยหนอนจะกัดกินและรวมกลุ่มสร้างเป็นรังอยู่ในช่อดอก ในแต่ละช่อดอกสามารถพบหนอนได้ทุกวัยทำให้สามารถระบาดได้อย่างต่อเนื่อง การทำลายระยะนี้สร้างความเสียหายได้ถึง 50% (Patel et al., 2018) นอกจากนี้หากอาหารไม่เพียงพอหรือถูกรบกวน หนอนสามารถสร้างเส้นใยเพื่อทิ้งตัวออกจากรังเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ บางครั้งพบเข้าทำลายผลอ่อนโดยหนอนกัดกินได้ถึงกะลามะพร้าว (endocarp) ส่วนผลแก่หนอนกัดกินส่วนผิวและสร้างเป็นรังคล้ายอุโมงค์พบมากบริเวณขั้วผล

ลักษณะการเข้าทำลายมะพร้าวในระยะช่อดอก ผลอ่อน และผลแก่

พืชอาหาร : มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน และกล้วย

การแพร่ระบาด
เพลี้ยแป้งสามารถระบาดจากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่หนึ่ง โดยการติดไปกับคน ท่อนพันธุ์ กระแสลม และมดเป็นพาหนะนำตัวเพลี้ยแป้งไปเลี้ยงเพื่อรอกินมูลหวานจากเพลี้ยแป้ง

การป้องกันกำจัด :

          1. กรณีระบาดไม่รุนแรง พ่นด้วยชีวภัณฑ์บีที (เชื้อ BT) หรือ Bacillus thuringiensis ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในการใช้ควบคุมหนอนผีเสื้อศัตรูพืช อัตราส่วน 60 – 80 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่น 3 ครั้งติดต่อกัน ห่างกันครั้งละ 7-10 วัน

          2. ปล่อยแมลงหางหนีบอัตรา 200-500 ตัวต่อไร่ ขึ้นอยู่ปริมาณของหนอน

          3. กรณีที่มีการระบาดรุนแรง ให้ทำการพ่นด้วย

              3.1 สารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% ดับเบิ้ลยูจี(กลุ่ม 28) อัตรา 5 กรัม (พิษน้อยต่อผึ้ง)

              3.2 คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี (กลุ่ม 28) อัตรา 20 มิลลิลิตร (พิษปานกลางต่อผึ้ง)

              3.3 ลูเฟนนูรอน 5% อีซี (กลุ่ม 15) อัตรา 20 มิลลิลิตร (พิษน้อยต่อผึ้ง)

โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งตามอัตราที่กำหนดผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วจั่นและทะลายมะพร้าว 1 – 2 ครั้ง

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร