ในช่วงนี้สภาพอากาศเหมาะแก่การปลูกผักหลายชนิด ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี จึงขอแจ้งให้เกษตรกรในภาคตะวันออก หมั่นสำรวจแปลงและเฝ้าระวังการระบาดของศัตรูพืชที่เกิดกับพืชผักในระยะนี้ เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยอ่อนที่พบบ่อยในแปลงผัก ได้แก่ เพลี้ยอ่อนถั่ว Aphis craccivora และ เพลี้ยอ่อนกะหล่ำ Lipaphis erysimi
ลักษณะการทำลาย
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากทุกๆ ส่วนของพืช เช่น ใบลำต้น ยอด กิ่ง ดอก และฝัก โดยใช้ปากแบบเจาะดูดแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อพืช แล้วดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ยอด และใบอ่อน มีอาการหงิกงอ เหี่ยวแห้ง ทำให้ใบเหลือง และร่วงหล่นไป เมื่อพืชถูกทำลายมากๆ จะหยุดเจริญเติบโตและตายได้และยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสอีกด้วย
การป้องกันและกำจัด
1 หมั่นสำรวจแปลงพืชผักอย่างสม่ำเสมอ
2. ปรับปรุงสภาพสวนไม่ให้เหมาะต่อการระบาดของเพลี้ยอ่อน พ่นน้ำที่ยอด และช่อดอก
3. ฉีดพ่นด้วยเชื้อราบิวเวอเรีย อัตรา เชื้อสด 1 กก.ต่อน้ำ 40 ลิตร หรือเชื้อราเมตาไรเซี่ยม อัตรา เชื้อสด 1 กก.ต่อน้ำ 100 ลิตร ในเวลาเย็น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 5-7 วัน
4. ฉีดพ่นด้วยสมุนไพร เช่นหางไหล อัตรา 1 กก./น้ำ 20 ลิตร
5. ใช้สารเคมีป้องกันและกาจัด เช่น แลมป์ดาไซฮาโลทิน คาร์โบซัลแฟน ไตรอะโซฟอส อิมิดาโคลพริด พ่นในอัตราตามฉลาก
ศัตรูธรรมชาติ ที่พบในแปลงที่มีเพลี้ยอ่อนระบาด
ตัวห้ำ ด้วงเต่า (Lady beetle) มีดังนี้ ด้วงเต่าลายสมอ Coccinella rependa Thunberg ด้วงเต่า Ileis cincta Fabricius ด้วงเต่าลายหยัก Menochilus sexmaculatus Fabricius ด้วงเต่าสีส้ม Micraspis discolor Fabricius ด้วงเต่า Synonycha grandis Thunb ตัวอ่อนแมลงวันดอกไม้ (Syrphid fly) Syrphus balteatus แมลงช้างปีกใส (Green lacewings) Mallada basalis เป็นต้น
ด้วงเต่าตัวห้ำชนิดต่างๆ
หนอนแมลงวันดอกไม้
แมลงเบียน แตนเบียนดักแด้ Trioxys sp.
เชื้อจุลินทรีย์ เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราเมตตาไรเซี่ยม
ที่มา : กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร