เนื่องจากระยะนี้มีความชื้นในอากาศน้อย ลมแรงแดดจัดในตอนกลางวันและกลางคืนมีอากาศเย็น เป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการเจิญเติบโตของเพลี้ยแป้ง ซึ่งในแปลงมันสำปะหลังจะพบกการระบาดของเพลี้ยแป้ง จำนวน 4 ชนิด ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี จึงขอให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในเขตภาคตะวันออก หมั่นสำรวจแปลงและเฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง หากพบการระบาดขอให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อดำเนินการควบคุมและหาทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู
เพลี้ยแป้งมะละกอ
เพลียแป้งแจ๊คเบียดเลย์
เพลี้ยแป้งลาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Phenacoccus manihoti เพลี้ยแป้งสีชมพู (Pinkish mealybug )
Paracoccus marginatus เพลี้ยแป้งมะละกอ (Papaya mealybug)
Pseudococcus jackbeardsleyi เพลี้ยแป้งแจ๊คเบียดเลย์ (Jackbeard)
Ferrisia virgate เพลี้ยแป้งลาย (Striped mealybug)
ลักษณะการทำลายของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง
เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู : ทำลายบริเวณยอดมันสำปะหลัง ทำให้ยอดหงิกงอเป็นพุ่ม ลำต้นจะบิดเบี้ยวมีช่วงข้อถี่แตกใบเป็นพุ่มหนาเป็นกระจุก
ซึ่งเป็นชนิดที่ทำความเสียหายมากในมันสำปะหลัง
เพลี้ยแป้งมะละกอ : มีความสามารถในการทำลายมันสำปะหลังได้ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะช่วงที่ไม่มีเพลี้ยแป้งสีชมพูระบาด มักพบดูดกินน้ำเลี้ยงจากใต้ใบ
มักพบอยู่ที่บริเวณใบแก่
เพลี้ยแป้งแจ็คเบียดเลย์และเพลี้ยแป้งลาย : ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณลำต้น มีผลต่อคุณภาพท่อนพันธุ์
ที่ผ่านมาระดับความรุนแรงไม่ถึงขั้นทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ
การทำลายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู
การทำลายของเพลี้ยแป้ง
การแพร่ระบาด
เพลี้ยแป้งสามารถระบาดจากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่หนึ่ง โดยการติดไปกับคน ท่อนพันธุ์ กระแสลม และมดเป็นพาหนะนำตัวเพลี้ยแป้งไปเลี้ยงเพื่อรอกินมูลหวานจากเพลี้ยแป้ง
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
ก่อนปลูก
1. ไถและพรวนดิน และตากดินอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดปริมาณของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่อยู่ในดินและเก็บเศษซากต้นมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยแป้งออกทำลายนอกแปลง
2. ใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาด ปราศจากเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง
3. แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลง เป็นเวลา 5-10 นาที โดยเลือกใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่
ไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
อิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
ไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
หลังปลูก
เมื่อมันสำปะหลังอายุ 1-4 เดือน ควรสำรวจการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ถ้าพบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังให้ทำการป้องกันกำจัด ดังนี้
1. ถอนต้นมันสำปะหลังหรือหักส่วนยอดที่มีเพลี้ยแป้ง ทำลายนอกแปลง
2. ใช้ศัตรูธรรมชาติควบคุมเพลี้ยแป้ง เช่น แตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู (เมื่อพบเพลี้ยแป้ง
มันสำปะหลังสีชมพู) แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่า
3. พ่นสารฆ่าแมลงเฉพาะจุดที่พบเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง โดยเลือกใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่
ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร,
โปรไทโอฟอส 50% EC อัตรา 50 ซีซี หรือมิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร,
พิริมิฟอส เมทิล 50% อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร,
ไทอะมีโทแซม+แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 24.7% ZC อัตรา 10 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
กลุ่มสารเคมีที่แนะนำให้ใช้การควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง และควรนำมาใช้สลับกันในแต่ละช่วงอายุของเพลี้ยแป้ง ในชั่วอายุเดียวกันควรใช้สารกลุ่มเดียวกัน และสลับด้วยสารอีกกลุ่มเมื่อชั่วอายุต่อไป
ที่มา : กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร