Trichogramma
วงจรชีวิตแตนเบียนไข่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trichogramma confusum

แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมม่า หรือแตนตาแดง จัดอยู่ในวงศ์ Trichogrammatidae พบอยู่ทั่วไปในบริเวณที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ ตัวเต็มวัยมีขนาดเล็ก ขนาดยาวประมาณ 0.50 มม. สีน้ำตาลเหลืองขุ่น ตาสีแดง หนวดเป็นปล้อง

ความสำคัญ

แตนเบียนไข่ไตรโคแกรมม่า ทำลายไข่ชนิดที่ไม่มีขนปกคลุม และเป็นไข่ที่วางใหม่ที่มีอายุ 1-2 วัน ของผีเสื้อต่าง ๆ หลายชนิด เช่น หนอนกอลายเล็ก หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนใยผัก หนอนสไปนี่ หนอนแก้วส้ม หนอนคืบละหุ่ง หนอนบุ้งปกขาว หนอนคืบกะหล่ำปลี และหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

วงจรชีวิต

ไข่
อายุ 1 วัน ไข่ของแตนเบียน เมื่อวางแล้วจะอยู่ภายในไข่ของแมลงศัตรูพืช

ตัวอ่อน  
อายุ 4 วัน ตัวอ่อนของแตนเบียนไข่จะอาศัยกินของเหลวอยู่ภายในไข่ของแมลงศัตรูพืช

ระยะดักแด้  
อายุ 2 วัน แตนเบียนไข่จะเข้าดักแด้อยู่ในไข่ของแมลงศัตรูพืช

ตัวเต็มวัย
อายุ  1-12 วัน มีขนาดเล็กมากความยาวจากส่วนหัวถึงปลายส่วนท้องตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมีย เฉลี่ย 0.4 และ 0.36 มม. ตามลำดับ ส่วนความกว้างเมื่อกางปีกออกของตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมีย มีขนาดประมาณ 0.87 และ 0.93 ตามลำดับ โดยตัวเต็มวัยจะมีขนาดเล็ก ตาสีแดง ปีกมีลักษณะเป็นแบบใส มี 2 คู่  มีปากแบบกัดกิน 
เพศเมีย มีอวัยวะวางไข่ (ovipositor) ยื่นยาว ลักษณะหนวดเป็นแบบกระบอง (clavate)
เพศผู้ ส่วนปลายหนวดมีเส้นขนยาวและมีปริมาณมากกว่าเพศเมีย

ลักษณะการทำลายเหยื่อ

       เมื่อแตนเบียนไข่เพศเมียพบไข่ผีเสื้อจะใช้อวัยวะวางไข่ (ลักษณะคล้ายเข็ม) แทงเข้าไปในไข่ของผีเสื้อ และวางไข่ โดยวางไข่ตั้งแต่ 1-4 ฟอง ลงในไข่ของผีเสื้อ (แล้วแต่ขนาดของไข่ผีเสื้อ) ซึ่งจะเรียกวิธีการนี้ว่า“การเบียน” ไข่แตนเบียนจะฟักตัวหนอนและกินน้ำเลี้ยงภายในไข่ของผีเสื้อ (ไข่จะไม่ฟักเป็นหนอนทำลายพืช) จากนั้น 3-5 วัน ไข่ผีเสื้อก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำและอีก 2-3 วันก็จะฟักเป็นแตนเบียนตัวเต็มวัย และไปทำลายไข่แมลงศัตรูพืชอื่นอีกต่อไป

การนำแตนเบียนไข่ไปใช้ควบคุมศัตรูพืช
ปล่อยแตนเบียนไข่

🍃นำแผ่นแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมม่าก่อนฟักตัว 1 วัน ไปติดใต้ใบพืชที่ต้องการปล่อย อัตรา 10-15 แผ่น/ไร่ (2,000 ตัว/แผ่น) ปล่อยกระจายทั่วแปลง  
🍃ปล่อยทุก 7 วัน ติดต่อกัน 3-5 ครั้ง (ปล่อยในช่วงเย็น)

ข้อควรระวัง -ระวังมดหรือแมลงอื่นเข้าทำลายไข่
              -อย่าให้แผ่นไข่ถูกน้ำก่อนแมลงฟักเป็นตัว