green lacewing
วงจรชีวิตแมลงช้างปีกใส

     เป็นแมลงตัวห้ำที่สำคัญสามารถกินศัตรูพืชได้หลายชนิด  เช่น ไข่ของแมลงหลายชนิด แมลงหวี่ขาว ไรแดง หนอนตัวเล็กๆ เพลี้ยหอย  เพลี้ยอ่อน  และเพลี้ยแป้ง  ซึ่งสามารถพบได้ในแปลงมันสำปะหลังที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้งโดยจะอยู่ปนกับเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง 

ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักพืช จังหวัดชลบุรี  ได้มีการเพาะเลี้ยงแมลงช้างปีกใส เพื่อนำไปใช้ควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง จำนวน  2  ชนิด  คือ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plesiochrysa  ramburi 
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mallada  basalis

ความแตกต่างของ แมลงช้างปีกใส ทั้ง 2 ชนิด

Plesiochrysa  ramburi 
ตัวเต็มวัยแมลงช้างปีกใส
Plesiochrysa  ramburi 
ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส
Mallada  basalis
ตัวเต็มวัยแมลงช้าง
Mallada  basalis
ตัวอ่อนแมลงช้าง

วงจรชีวิต

ไข่แมลงช้างปีกใส

ไข่
มีก้านชูสีขาว ยาวประมาณ 1.0 ซม. ไข่ติดอยู่ที่ปลายก้านมีทรงเป็นวงรี สีเขียวอ่อน  เมื่อไข่ใกล้ฟักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม  ไข่มีอายุ  3 – 4  วัน

ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส

   ตัวอ่อน
รูปร่างคล้ายจระเข้  เมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ  0.5 – 0.8 ซม. เป็นระยะที่ทำลายเหยื่อได้เป็นจำนวนมาก  ชอบกินเพลี้ยแป้งเป็นอาหารและจะพรางตัวเข้ากับเหยื่อ ตัวอ่อนมี 3 วัย  อายุประมาณ  12 – 14  วัน

ดักแด้แมลงช้างปีกใส

ดักแด้
ตัวอ่อนเมื่อโตเต็มที่จะเข้าดักแด้เป็นรูปทรงกลมสีขาวปนเทาและมีใยคลุมขนาดใกล้เคียงกับเมล็ดข้าวฟ่าง อายุประมาณ  7 – 10  วัน

ตัวเต็มวัยแมลงช้างปีกใส

ตัวเต็มวัย
สีเขียวอ่อน  ปีกยาวโปร่งฉลุคล้ายลูกไม้  ลำตัวสีเขียว ยาวประมาณ 1.0 – 1.8 ซม. ปีกยาวคลุมลำตัวเวลาเกาะอยู่กับที่  มีอายุประมาณ 1 เดือน

ลักษณะการทำลายเหยื่อ

แมลงช้างปีกใส
แมลงช้างปีกใส

ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใสจะทำลายเหยื่อโดยใช้ปากที่มีลักษณะคล้ายงาช้าง เจาะเข้าไปในตัวเหยื่อและดูดกินน้ำเลี้ยง สำหรับชนิด Mallada เมื่อกินเหยื่อแล้วจะนำซากเหยื่อมาแบกไว้บนหลัง แต่ชนิด Plesiochrysa จะนำซากเหยื่อมาป้ายไว้ที่ลำตัวเพื่อลำพรางตัวเองจากศัตรูอื่นๆ ใน 1 ชม. แมลงช้างปีกใสสามารถกินเหยื่อได้เฉลี่ย 60 ตัว

การนำแมลงช้างปีกใสไปใช้ควบคุมศัตรูพืช

ปล่อยแมลงช้างปีกใส

นำวัสดุ เช่น กระดาษ ผ้า หรือใบไม้ ที่มีไข่วางหรือผูกบริเวณที่มีเพลี้ย

อัตราการปล่อย
> พบเพลี้ยแป้ง 1-2 จุด ปล่อยไข่แมลงช้างปีกใส 100 ตัว/ไร่
> พบเพลี้ยแป้ง 3 จุด ขึ้นไป ปล่อยไข่แมลงช้างปีกใส 200 – 500 ตัว/ไร่
ปล่อยได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของแมลงช้างปีกใส
ปล่อยช่วงเวลาเย็น ประมาณ 16.00 น. เป็นต้นไป
ปล่อยกระจายให้ทั่วแปลง
งดใช้สารเคมีกำจัดแมลง
ควรตรวจสอบหลังปล่อยไปแล้ว ประมาณ 7 วัน