แมลงหางหนีบ
วงจรชีวิตแมลงหางหนีบ

แมลงหางหนีบขาวงแหวน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Euborellia annulipes (Lucas)

ความสำคัญ
แมลงหางหนีบ กิน เพลี้ยอ่อน

แมลงหางหนีบขาวงแหวนเป็นตัวห้ำขนาดเล็ก ลำตัวแบนยาวสีน้ำตาลดำเป็นมัน ขนาด 1.6-1.8 ซม. หนวดแบบเส้นด้ายขาสีเหลืองมีแถบสีดำเป็นวงรอบขา บริเวณปลายส่วนท้องมีอวัยวะคล้ายคีม 1 คู่ ใช้สำหรับหนีบจับเหยื่อ มีปากแบบกัดกิน
สามารถควบคุมศัตรูพืชได้หลายชนิดได้ เช่น หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนกระทู้ข้าวโพด หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกออ้อย หนอนกอข้าว แมลงหวี่ขาว เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย หนอนขนาดเล็ก และไข่ของแมลงศัตรูพืช สามารถกินหนอนได้ 6-10 ตัวต่อวัน

วงจรชีวิต
ไข่แมลงหางหนีบ

ไข่
อายุ 5-7 วัน ลักษณะทรงกลมผิวเรียบ วางไข่เป็นกลุ่มตามซอกกาบใบพืช ไข่ที่วางใหม่ๆ มีสีขาวนวล เมื่อใกล้ฟักไข่จะขยายใหญ่ขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีขาวใสมีจุดดำตรงกลาง

ตัวอ่อนแมลงหางหนีบ

ตัวอ่อน
มี 3 วัย อายุประมาณ 50-60 วัน เมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ๆ จะมีสีขาว แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และสีจะเข้มขึ้นเมื่อเริ่มเข้าวัยที่ 2 และวัยที่ 3

ตัวเต็มวัยแมลงหางหนีบ

ตัวเต็มวัย
มีอายุประมาณ 90-120 วัน ลำตัวยาว 1.2-1.8 ซม. มีแพนหางที่ปลายส่วนท้องลักษณะคล้ายคีม หนวดแบบเส้นด้าย ปล้องหนวดที่ 3-4 จากปลายมีสีขาวซีด เพศผู้และเพศเมียมีสีน้ำตาจนถึงดำ เพศผู้เล็กกว่าเพศเมีย แพนหางด้านขวาโค้งงอเป็นตะขอ เพศเมียแพนหางเรียบ ชอบวางไข่ตามรูพื้นดิน ใต้เศษซากพืชคอยเฝ้าดูแลและทำความสะอาดไข่ไม่ให้เกิดเชื้อราและปกป้องอันตราย

ลักษณะการทำลายเหยื่อ
แมลงหางหนีบกินหนอนแมลงดำหนาม
แมลงหางหนีบกินเพลี้ยอ่อน

   แมลงหางหนีบส่วนใหญ่จะออกหากินเวลากลางคืน และหลบซ่อนตัวเวลากลางวัน ตามพื้นดิน ร่องไม้ ซอกหิน ใต้เปลือกไม้หรือตามกาบใบพืช ชอบอยู่ในที่ที่มีความชื้น
ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเป็นตัวห้ำทำลายเหยื่อที่เป็นตัวหนอนโดยการใช้แพนหางที่มีลักษณะคล้ายคีมหนีบตัวหนอนแล้วใช้ปากกัดกิน ถ้าเป็นไข่ของแมลงศัตรูพืชหรือเพลี้ยอ่อนจะกัดกินโดยตรง

การนำแมลงหางหนีบไปใช้ควบคุมศัตรูพืช
ปล่อยแมลงหางหนีบ

🍃ปล่อยแมลงหางหนีบเพื่อใช้ควบคุมศัตรูพืชได้ทุกวัย

🍃พืชไร่ ไม้ผล พืชผัก ปล่อยอัตรา 200-500 ตัว/ไร่ หากระบาด ปล่อย 1,000-2,000 ตัว/ไร่ ปล่อย 2-3 ครั้ง ขึ้นกับความหนาแน่นของศัตรูพืช

🍃สำหรับมะพร้าวที่โดนแมลงดำหนามทำลายให้ปล่อย 50 ตัวต่อต้น