ข่าวพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช ฉบับที่ 8/66

แมลงหวี่ขาวยาสูบ

ในช่วงนี้สภาพอากาศมีความแห้งแล้งซึ่งเหมาะสำหรับการระบาดของศัตรูพืชหลายชนิด ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ในเขตภาคตะวันออกหมั่นสำรวจแปลงและเฝ้าระวังการระบาดของแมลงหวี่ขาวยาสูบ ซึ่งเป็นแมลงพาหะนำโรคใบด่างมันสำปะหลัง

ชื่อสามัญ Tobacco Whitefly
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bemisia tabaci (Gennadius)

ระยะไข่ : 3 – 7 วัน โดยวางไข่เป็นกลุ่มใต้ใบพืช ก้าน ไข่จะติดกับเนื้อเยื่อของพืช รูปร่างยาวรีสีเหลืองอ่อน มีขนาด      0.1-0.3 มิลลิเมตร

ระยะตัวอ่อน : 11 – 18 วัน มีลักษณะแบนราบติดกับผิวใบ มีการลอกคราบ จำนวน 3 ครั้ง

ระยะดักแด้ : 5 – 7 วัน เป็นระยะที่มีตาสีแดง มีขนาด 0.6-0.8 มิลลิเมตร

ระยะตัวเต็มวัย : 2 – 11 วัน มีขนาดความยาว 1 มิลลิเมตร ปีกสีขาวและลำตัวสีเหลืองอ่อน มักพบเกาะตามใต้ใบมันสำปะหลัง ตัวเต็มวัยจะออกจากดักแด้ตรงรอยแตกที่ส่วนอก เพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้เฉลี่ย 200 ฟอง แมลงหวี่ขาวยาสูบตัวเต็มวัยสามารถบินได้ประมาณ 2-7 กิโลเมตรต่อวันขึ้นกับแรงลมและมีการสืบพันธุ์แบบ parthenogenesis (การออกลูกเป็นตัวโดยไม่มีการผสมพันธุ์)

พืชอาศัย
มีพืชอาศัยมากกว่า 900 ชนิด อาทิเช่น มันสำปะหลัง ละหุ่ง สบู่ดำ หม่อน พืชผักสวนครัว พืชวงศ์ถั่ว พืชวงศ์แตง พืชวงศ์มะเขือ กุหลาบ และวัชพืชอีกหลายชนิดเป็นต้น

ลักษณะการทำลาย

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยสามารถเข้าทำลายพืชอาศัยได้โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชจากใบและยอดอ่อนของพืช การทําลายของตัวอ่อนทําให้เกิดเป็นจุดสีเหลืองบนใบพืช ใบพืชหงิกงอขอบใบม้วนลงด้านล่าง ต้นแคระแกร็นทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต นอกจากพืชจะได้รับความเสียหายที่เกิดจากการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชโดยตรงแล้ว แมลงหวี่ขาวยาสูบยังเป็นแมลงพาหะถ่ายทอดเชื้อไวรัสที่สำคัญ เช่น โรคใบด่างมันสำปะหลัง

สิ่งแวดล้อมที่เหมาะต่อการเกิดโรค

          สภาพอากาศร้อน ชื้น ฝนทิ้งช่วง และในแปลงที่มีพืชอาศัยชนิดต่างๆ ปลูกตลอดปี

การป้องกันและกำจัด

  1. หมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ ทำความสะอาดแปลงและบริเวณรอบๆแปลง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบ
  2. หากพบต้นที่เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัส ควรฝังกลบหลุมลึกไม่น้อยกว่า 2-3 เมตร หรือถอนต้นทิ้งและทำลายนอกแปลง
  3. การใช้สารเคมี โดยเลือกใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง
    กลุ่ม 3A ได้แก่ ไบเฟนทริน 25% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
    กลุ่ม 4A ได้แก่ อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร, ไดโนทีฟูแรน 10% SL อัตรา20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร, ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
    กลุ่ม 16 ได้แก่ บูโพรเฟซีน 40% SC อัตรา 40 มิลลิกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

กลุ่มสารเคมีที่แนะนำให้ใช้การควบคุม ควรนำมาใช้สลับกันในแต่ละช่วงอายุของแมลงหวี่ขาวยาสูบ ในชั่วอายุเดียวกันควรใช้สารกลุ่มเดียวกัน และสลับด้วยสารอีกกลุ่มเมื่อชั่วอายุต่อไป

ศัตรูธรรมชาติ

ตัวห้ำ ด้วงเต่า (Lady beetle) มีดังนี้ ด้วงเต่าลายสมอ Coccinella rependa Thunberg ด้วงเต่า Ileis cincta Fabricius ด้วงเต่าลายหยัก Menochilus sexmaculatus Fabricius ด้วงเต่าสีส้ม Micraspis discolor Fabricius ด้วงเต่า Synonycha grandis Thunb ตัวอ่อนแมลงวันดอกไม้ (Syrphid fly) Syrphus balteatus แมลงช้างปีกใส (Green lacewings) Mallada basalis เป็นต้น

ด้วงเต่าตัวห้ำชนิดต่างๆ

แมลงช้างปีกใส

   

มวนโอเรียส (Orius sp.)

ที่มาภาพ : Planet Natural

แตนเบียนเอ็นคาเซีย (Encarsia sp.)

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร

Similar Posts